รูปแบบการจัดการความรู้ (Knowledge Management Model) คือการอธิบายถึงปัจจัย องค์ประกอบ และกระบวนการของการจัดการความรู้ ซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลาย ไม่มีรูปแบบที่แน่นอนตายตัว องค์กรจะใช้รูปแบบการจัดการความรู้แบบใด ขึ้นอยู่กับการตีความ บริบท และสภาพแวดล้อมขององค์กรนั้นๆ รูปแบบการจัดความรู้ขององค์กรหนึ่ง อาจจะใช้ไม่ได้ในอีกองค์กรหนึ่ง รูปแบบการจัดการความรู้จึงมีหลากหลาย ดังเช่น
ประพนธ์ ผาสุขยืด (2550, 83-89) ได้พัฒนารูปแบบการจัดการความรู้ออกมาเป็น ตาราง (Matrix) ที่มีชื่อว่า “หน้าต่างความรู้ ประตูปัญญา” ดังแสดงไว้ในภาพที่ 2.4
ในช่องที่ 1 เป็นพื้นที่สำหรับกรณี “เรารู้ว่า เรารู้อะไร” ความรู้ในช่องนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ความรู้ที่แจ้งชัด ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของเอกสาร หนังสือ ตำรับ ตำรา คู่มือปฏิบัติงาน หรือในไฟล์คอมพิวเตอร์ เป็นความรู้ในรูปแบบที่สามารถแสดงตัวอย่างได้ชัดเจน ส่วนความรู้อีกประเภทหนึ่งเป็นความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน ดึงออกมาค่อนข้างยาก
ในช่องที่ 2 เป็นพื้นที่สำหรับกรณี “เราไม่รู้ว่า เรารู้อะไร” คือเป็นสิ่งที่เรารู้ แต่มันซ่อนเร้นอยู่ จนเราอาจไม่รู้ตัวเราว่ารู้สิ่งนั้น บริเวณนี้จึงถือว่าเป็น พื้นที่ซ่อนเร้น
ในช่องที่ 3 เป็นพื้นที่สำหรับกรณี “เรารู้ว่า เราไม่รู้อะไร” ซึ่งก็คือบริเวณที่เราไม่รู้ ดังนั้นหากเราต้องการรู้เราจะต้องเรียนรู้ ซึ่งตัวเราก็จะเปลี่ยนพื้นที่มาอยู่ช่องที่ 1 คือพื้นที่ที่เรารู้ว่าเรารู้อะไร
ในช่องที่ 4 เป็นส่วนที่เข้าใจยากกว่า 3 ช่องที่ผ่านมา เป็นพื้นที่สำหรับกรณี “เราเองไม่รู้ว่า เราไม่รู้อะไร” ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นจุดอับ ซึ่งในส่วนนี้ทุกคนจึงจะต้องเปิดรับความรู้ต่างๆ เข้ามาโดยไม่มีอคติ เปิดใจรับฟัง ก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาได้ทันที
หากทุกคนเข้าใจพื้นที่ทั้ง 4 ช่องที่กล่าวมาแล้ว ก็จะสามารถพัฒนาปัญญา และการจัดการความรู้ของตนเองปะปนผสมผสานกัน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการจัดการความรู้ในระดับองค์กรต่อไป
วิจารณ์ พานิช (2551 : 137) ได้กล่าวถึง โมเดลปลาตะเพียน โมเดลนี้นำแนวคิดมาจากโมบายปลาตะเพียน ซึ่งปลาตะเพียนตัวแม่และตัวลูก แขวนเป็นพวง 3-4 ชั้น ใช้เป็นสัญลักษณ์บอกว่า เป้าหมาย/วิสัยทัศน์ของหน่วยงานย่อย ต้องสอดคล้องกับเป้าหมาย/วิสัยทัศน์ ของหน่วยงานใหญ่ เป้าหมายของการจัดการความรู้ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งการจัดการความรู้ต้องเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กร ดังในโมบายปลาตะเพียนที่ปลาทุกตัวหันหน้าหรือว่ายน้ำไปทางเดียวกัน หัวปลาหันไปทางเดียวกัน แสดงว่าต้องมีเป้าหมายเดียวกัน อาจขยายความว่า ปลาทุกตัวต้องช่วยเหลือกัน เปรียบเสมือนการแบ่งปันความรู้ข้ามหน่วยงาน ข้ามฝ่ายภายในองค์กร หรือในบางกรณีออกไปนอกองค์กรอีกด้วย
พรรณี สวนเพลง (2552 : 41-42) ได้ศึกษา ค้นคว้า และนำเสนอรูปแบบการจัดการความรู้ที่ชื่อว่า “ก้านกล้วยโมเดล” โดยได้เปรียบเทียบกระบวนการจัดการความรู้เสมือนกับตัวช้าง โดยในแต่ละส่วนของช้างนั้นมีหน้าที่และมีความสำคัญเท่าๆ กัน จะขาดส่วนหนึ่งสวนใดไม่ได้ เพราะจะทำให้ช้างพิการ ซึ่งได้อธิบายรายละเอียดของก้านกล้วยโมเดลไว้ ดังนี้
- ส่วนลำตัวของช้าง ซึ่งมีขนาดใหญ่ และมีกิจกรรมมากมายที่ต้องทำ จึงเปรียบเสมือนกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management Process)
- ส่วนหัวของช้าง นับว่ามีความสำคัญมาก เช่นมีไว้บรรจุสมองเพื่อควบคุมการทำงานของร่างกาย เปรียบเสมือนฐานข้อมูลของความรู้ (Data Warehouse) และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing and Transferring)
- ส่วนงวงช้าง เป็นอวัยวะที่ดูดน้ำ เปรียบเสมือนการเสาะแสวงหา และการถอดความรู้จากคนและจากแหล่งข้อมูลต่างๆ
- งาช้าง เป็นสิ่งบ่งบอกถึงคุณลักษณะของช้าง เปรียบเสมือนภาวะผู้นำในองค์กรที่จะต้องเห็นด้วย และสนับสนุนการจัดการความรู้
- ตาของช้าง เปรียบเสมือนวิสัยทัศน์ขององค์กร ที่จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้
- ขาทั้งสี่ข้างของช้าง เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เพื่อจะพาช้างเดินไปข้างหน้า เปรียบเสมือนวัฒนธรรมองค์กร การสื่อสาร การพัฒนา ผู้ทำหน้าที่ในการจัดการความรู้ และการวัดประเมินการจัดการความรู้
- หางของช้าง เป็นส่วนที่มีความสำคัญ เปรียบเสมือนเทคโนโลยีที่คอยขับเคลื่อนให้การจัดการความรู้ประสบผลสำเร็จ
นอกจากนั้น พรรณี สวนเพลง (2552 : 32-42) ยังได้อธิบายถึงรูปแบบการจัดความรู้ของนักวิชาการหลายท่าน ดังนี้
รูปแบบการจัดการความรู้ในองค์กรธุรกิจของ อาร์เธอร์ แอนเดอร์สัน (Arthur Anderson) และ The American Productivity and Quality Center ประกอบด้วยความรู้ขององค์กรเป็นแกนกลาง เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับกระบวนการจัดการความรู้ (การสร้าง การจำแนก การเก็บรวบรวม การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง การนำไปใช้ และการแบ่งปันแลกเปลี่ยน) ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการจัดการความรู้ขององค์กร ดังแสดงในภาพที่ 2.5
อ่านต่อ รูปแบบการจัดการความรู้ (2)
*****************************************

ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น