ประโยชน์ของการจัดการความรู้

บาชา (Bacha, 2000 อ้างถึงใน พรรณี สวนเพลง,2552 : 29-31)) ได้สรุปประโยชน์ของการจัดการความรู้ไว้ 8 ประการ ได้แก่
  1. ป้องกันความรู้สูญหาย การจัดการความรู้ทำให้องค์กรสามารถรักษาความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ และความรู้ที่อาจสูญหายไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของบุคลากร เช่น การเกษียณอายุราชการ หรือการลาออกจากงาน เป็นต้น
  2. เพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจ ทำได้โดยเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงความรู้ เป็นปัจจัยสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจ เนื่องจากผู้ที่มีหน้าที่ตัดสินใจต้องสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ
  3. ความสามารถในการปรับตัวและมีความยืดหยุ่น เป็นการทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความเข้าใจในงานและวัตถุประสงค์ของงาน ไม่ต้องมีการควบคุมหรือมีแผนแทรกแซงมากนัก จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานในหน้าที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการพัฒนาจิตสำนึกในการทำงาน
  4. ความได้เปรียบในการแข่งขัน เป็นการจัดการความรู้เพื่อช่วยให้องค์กรมีความเข้าใจลูกค้า แนวโน้มทางการตลาด และการแข่งขัน ทำให้สามารถลดช่องว่าง และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันได้
  5. การพัฒนาทรัพย์สิน เป็นการพัฒนาความสามารถขององค์กร ในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ เช่น สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ เป็นต้น
  6. การยกระดับผลิตภัณฑ์ เป็นการนำการจัดการความรู้มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริการ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มคุณค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์นั้นๆ อีกด้วย
  7. การบริหารลูกค้า เป็นการศึกษาความสนใจและความต้องการของลูกค้า จะเป็นการสร้างความพึงพอใจและเพิ่มยอดขาย และสร้างรายได้ให้แก่องค์กร
  8. การลงทุนทางทรัพยากรบุคคล เป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน การจัดการด้านเอกสาร การจัดการความรู้ที่ไม่เป็นทางการ เป็นการเพิ่มความสามารถให้แก่องค์กรในการจ้าง และฝึกฝนบุคลากร
ศรีไพร ศักดิ์รุ่งพงศากุล (2549: 343) ได้อธิบายว่าการจัดการความรู้ที่ดีองค์กรจะได้รับประโยชน์ เช่น ช่วยเก็บความรู้ให้ควบคู่กับองค์กรตลอดไป ช่วยลดระยะเวลาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การให้บริการ หรือการเรียนรู้งานใหม่ ปรับปรุงประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับทุกส่วนขององค์กร เสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ทั้งทางด้านผลิตภัณฑ์และการบริการ ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ แสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งจะส่งผลให้บุคลากรมีคุณภาพเพิ่มขึ้นและสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในการปฏิบัติงานอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ช่วยให้องค์กรมีความพร้อมในการปรับตัวให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจเพื่อความอยู่รอดและได้เปรียบทางการแข่งขัน

สายันต์ แสงสุริยันต์ (2009 : ออนไลน์) กล่าวถึงประโยชน์ของการจัดการความรู้ ว่า
  1. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร 
  2. ป้องกันการสูญหายของภูมิปัญญา ในกรณีที่บุคคลากรเกษียณอายุ ลาออก หรือเสียชีวิต
  3. เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและความอยู่รอด
  4. เป็นการลงทุนในต้นทุนมนุษย์ ในการพัฒนาความสามารถที่จะแบ่งปันความรู้ที่ได้เรียนรู้มาให้กับคนอื่นๆ ในองค์กร และนำความรู้ไปปรับใช้กับงานที่ทำอยู่ให้เกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น เป็นการพัฒนาคน และพัฒนาองค์กร
  5. ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการตัดสินใจและวางแผนดำเนินงานให้รวดเร็ว และดีขึ้น เพราะมีสารสนเทศ หรือแหล่งความรู้เฉพาะที่มีหลักการ เหตุผล และน่าเชื่อถือ ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ
  6. ผู้บังคับบัญชาสามารถทำงานเชื่อมโยงกับผู้ใต้บังคับบัญชาให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ช่วยเพิ่มความกลมเกลียวในหน่วยงาน 
  7. เมื่อพบข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงาน ก็สามารถหาวิธีแก้ไขได้ทันท่วงที 
  8. แปรรูปความรู้ให้เป็นทุน ซึ่งเป็นการสร้างความท้าทายให้องค์กรผลิตสินค้าและบริการจากความรู้ที่มี เพื่อเพิ่มคุณค่า และรายได้ให้กับองค์กร เพื่อการสร้างสรรค์ และบรรลุเป้าหมายของจินตนาการที่ยิ่งใหญ่
  9. เปลี่ยนวัฒนธรรม จากวัฒนธรรมอำนาจในแนวดิ่ง ไปสู่วัฒนธรรมความรู้ในแนวราบ ซึ่งทุกคนมีสิทธิในการเรียนรู้เท่าเทียมกัน
แนวคิดดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า ประโยชน์ของการจัดการความรู้ คือ การป้องกันความรู้สูญหายจากการลาออกหรือเปลี่ยนงานใหม่ของพนักงาน นำความรู้ที่อยู่ในตัวคนออกมาให้เป็นความรู้ที่แจ้งชัดได้ ความรู้จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจของผู้บริหาร ความรู้ทำให้องค์กรมีความสามารถในการปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันกับองค์กรอื่นๆ ช่วยลดระยะเวลาการที่ต้องเริ่มต้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การให้บริการ หรือการเรียนรู้งานใหม่ บุคลากรในองค์กรมีความรู้ และทำงานมีคุณภาพมากขึ้น สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานอันก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าขององค์กรต่อไป

*************************************

2 ความคิดเห็น: