ประเภทของความรู้

ทราฟฟ์ (Trapp, 1999 อ้างถึงใน พรรณี สวนเพลง, 2552 : 24) ได้แบ่งประเภทความรู้ตามการเน้นที่แตกต่างกันออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
  1. จำแนกตามแหล่ง (Location) ซึ่งแบ่งออกเป็นความรู้ภายในกับความรู้ภายนอก (Internal and External Knowledge)
  2. จำแนกตามเวลา (Time) ซึ่งแบ่งออกเป็นความรู้ในปัจจุบันกับความรู้ในอนาคต (Actual and Future Knowledge)
  3. จำแนกตามรูปแบบ (Form) แบ่งเป็นความรู้ที่ปรากฏชัดแจ้งกับความรู้โดยนัย (Explicit and Tacit Knowledge)
  4. จำแนกตามเจ้าของ (Owner) แบ่งเป็นความรู้เฉพาะตัวบุคคลกับความรู้สาธารณะ (Private and Common Knowledge)
ธำรงค์ อุดมไพจิตรกุล (2544 : 14) จำแนกความรู้ออกเป็น 3 ประเภทได้แก่ ความรู้แท้ ความรู้เทียม และความรู้เท็จ ซึ่งอธิบายได้ดังนี้
  1. ความรู้แท้ คือ ความรู้ที่ถูกต้อง เที่ยงตรง แน่นอน ตายตัว เป็นจริงตลอดกาล เป็นสากลกับทุกสิ่ง และพิสูจน์ได้
  2. ความรู้เทียม คือ ความรู้ที่ถูกต้อง แต่ไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ไม่ตายตัว เป็นจริงบางกาล เป็นเท็จบางกาล ไม่เป็นสากลกับทุกสิ่ง ต้องอาศัยหลักฐานอ้างอิง
  3. ความรู้เท็จ คือ ความรู้ที่ไม่ถูกต้อง ไม่เที่ยงตรง แน่นอน ตายตัว เป็นเท็จตลอดกาล เป็นสากลกับทุกสิ่ง และพิสูจน์ได้ 

เดฟ สโนว์เดน (Dave Snowden) (อ้างถึงใน บูรชัย ศิริมหาสาคร 2550 : 79-80) มีแนวคิดว่า ความรู้มีทั้งประเภทที่เป็นนามธรรม ยากต่อการบริหารจัดการ จนกระทั่งถึงความรู้ที่เป็นรูปธรรมหรือลายลักษณ์อักษรชัดเจน สามารถบริหารจัดการได้ง่าย เรียกว่า เอเชน (ASHEN) หรือ เอเชต(ASHET) หมายถึงความรู้ 5 ประเภทคือ
  1. ความรู้ที่อยู่ในวัตถุ (Artifacts-A) เช่น ความรู้ที่เป็นลายลักษณ์อักษรในรูปของเอกสาร
  2. ทักษะ (Skill-S) ซึ่งเป็นความรู้ที่ได้จากการฝึกฝน ไม่สามารถเรียนรู้ด้วยวิธีการท่องจำ เป็นความรู้ที่จำเป็นต้องมีเพื่อประโยชน์ในการทำงานให้สำเร็จ 
  3. สำนึก (Heuristics-H) คือ ความรู้จากสามัญสำนึก (Commonsense) หรือความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ ประสบการณ์ หรือจากเหตุผลต่างๆ ที่มี
  4. ประสบการณ์ (Experience-E) เป็นความรู้อย่างหนึ่ง ประเภทความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ที่ยากแก่การถ่ายทอด หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เนื่องจากเป็นประสบการณ์เฉพาะบุคคล แต่ถ้าอธิบายออกมาได้จะกลายเป็นความรู้แจ้งชัด (Explicit Knowledge) ในบางครั้งเราอธิบายไม่ได้ แต่เวลาทำงานเรานำประสบการณ์มาใช้เป็นความรู้ในการทำงานได้
  5. พรสวรรค์ (Talent) เป็นความรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งติดตัวมาตามธรรมชาติ (Natural) เป็นความรู้ฝังลึก ยากในการถ่ายทอด หรือบริหารจัดการมากที่สุด
ประพนธ์ ผาสุขยืด (2550 : 21-22) อธิบายความรู้ในเชิงปฏิบัติการที่มักจะมีการแบ่งความรู้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
  1. ความรู้ประเภทแรก เป็นความรู้ที่เห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรม เป็นความรู้ที่อยู่ในตำรับตำรา เช่น พวกหลักวิชาหรือทฤษฎีทั้งหลาย อันได้มาจากการวิเคราะห์สังเคราะห์ ผ่านกระบวนการพิสูจน์ ผ่านกระบวนการวิจัย เรามักเรียกกันทั่วๆ ไปว่าเป็น "ความรู้ชัดแจ้ง" หรือ "Explicit Knowledge"
  2. ความรู้ประเภทที่สอง เป็นความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) เป็นสิ่งที่เห็นได้ไม่ชัด เป็นความรู้ที่มาจากการปฏิบัติ บ้างก็จัดว่าเป็น "เคล็ดวิชา" เป็น "ภูมิปัญญา" เป็นสิ่งมีมาจากการใช้วิจารณญาณ ปฏิภาณไหวพริบ เป็นเทคนิคเฉพาะตัวของผู้ปฏิบัติแต่ละท่าน ถึงแม้ความรู้ประเภทที่สองนี้จะเห็นได้ไม่ชัดเหมือนความรู้ประเภทแรก แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้งานบรรลุผลสำเร็จได้เช่นกัน
ส่วน ไมเคิล โพแลนยิ (Michael Polanyi) และ อิคูจิโร โนนากะ (Ikujiro Nonaka) (อ้างถึงใน บูรชัย ศิริมหาสาคร และพัดชา กวางทอง, 2552 : 34-35) ได้เปรียบความรู้เหมือนกับภูเขาน้ำแข็ง โดยสามารถจำแนกความรู้ได้ออกเป็น 2 ประเภท คือ ความรู้แจ้งชัด (Explicit Knowledge) และ ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ดังภาพประกอบที่ 2.2 ซึ่งอธิบายได้ ดังนี้ 
  1. ความรู้แจ้งชัด คือ ความรู้ที่เป็นเหตุเป็นผล หรือ ความรู้เชิงทฤษฎีที่บันทึกไว้ในสื่อต่างๆ เช่น เอกสาร ตำรา และคู่มือการปฏิบัติงาน เป็นความรู้ที่ง่ายต่อการอธิบายถ่ายทอด ซึ่งทำให้ผู้อื่นสามารถเข้าถึงความรู้นั้นได้ง่าย จึงเปรียบได้กับภูเขาน้ำแข็งส่วนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมามองเห็นได้ชัดเจน มีปริมาณ 20% ของความรู้ทั้งหมดของคนเรา
  2. ความรู้ฝังลึก คือ ความรู้เชิงประสบการณ์ที่ซ่อนอยู่ในตัวคน ในลักษณะของความชำนาญ หรือความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นความสามารถพิเศษเฉพาะบุคคล หรือพรสวรรค์ ซึ่งยากแก่การอธิบายถ่ายทอดให้เป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยเหตุที่เป็นความรู้ที่ซ่อนอยู่ในตัวคน มองไม่เห็นชัดเจน จึงเปรียบได้กับภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำซึ่งมองไม่เห็น มีปริมาณ 80% ของความรู้ทั้งหมดของคนเรา



พรรณี สวนเพลง (2552 : 23) ยังอธิบายว่าความรู้อาจแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 
  1. ความรู้ที่เกิดจากวัฒนธรรม (Cultural Knowledge) ซึ่งเป็นความรู้ที่เกิดจากศรัทธาหรือความเชื่อ ที่ทำให้กลายเป็นความจริง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ การเฝ้าสังเกต และการสะท้อนผลกลับของตัวความรู้และสภาพแวดล้อม
  2. ความรู้ที่แฝงอยู่ในองค์กร (Embedded Knowledge) เป็นความรู้ที่อยู่ในวิธีทำงาน คู่มือการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร กฎระเบียบและกระบวนการผลิต เป็นต้น

จากแนวคิดดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า ความรู้ สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท อาจจำแนกได้ตามแหล่งที่มาของความรู้ จำแนกได้ตามเวลาที่ความรู้เกิดขึ้นทั้งในอดีต ปัจจุบัน และความรู้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากจำแนกตามรูปแบบ ได้แก่ความรู้ที่แจ้งชัด (Explicit Knowledge) ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ความรู้ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นความรู้แท้ ความรู้เทียม หรือความรู้เท็จ ความรู้บางครั้งเกิดจากวัฒนธรรมในองค์กร และบางครั้งเป็นความรู้ที่แผงอยู่ในองค์กร ความรู้มีทั้งประเภทที่เป็นนามธรรม ยากต่อการบริหารจัดการ จนกระทั่งถึงความรู้ที่เป็นรูปธรรมหรือลายลักษณ์อักษรชัดเจน สามารถบริหารจัดการได้ง่าย

*******************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น