ความหมายของการจัดการความรู้

เคอร์มอลลี่ (Kermally, 2002) ได้ให้ความหมายของการจัดการความรู้ ว่าเป็นการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรเพื่อก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ การถ่ายทอด และการแบ่งปันความรู้ โดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมและสร้างความเป็นผู้นำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เฮนรี่ และ เฮดกีเพธ (Henrie & Hedgepeth, 2003) แห่งมหาวิทยาลัยแอนโชแรจ อลาสกา กล่าวว่า การจัดการความรู้เป็นระบบบริหารจัดการทรัพย์สินความรู้ขององค์กร ทั้งที่เป็นความรู้โดยนัย และความรู้ที่เห็นได้อย่างชัดแจ้ง ระบบการจัดการความรู้เป็นกระบวนการที่เกี่ยวพันกับการจำแนกความรู้ การตรวจสอบความรู้ การจัดเก็บความรู้ที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว การเตรียมการกรองความรู้ และเตรียมการเข้าถึงความรู้ให้กับผู้ใช้ ทั้งนี้โดยมีหลักการที่สำคัญคือ ทำให้ความรู้ถูกใช้ ถูกปรับเปลี่ยน และถูกยกระดับให้สูงขึ้น 

โนนากะ และ ทาคูชิ (Nonaka & Takeuchi, 2004) ได้นิยามความหมาย การจัดการความรู้ว่าเป็นกระบวนการสร้างความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยทำการเผยแพร่ความรู้อย่างกว้างขวางตลอดทั้งองค์กร โดยรวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการเทคโนโลยีและระบบใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งบางครั้งก็เป็นการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร

พรธิดา วิเชียรปัญญา (2547 : 3) ระบุว่า การจัดการความรู้ หมายถึง กระบวนการอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการประมวลข้อมูล สารสนเทศ ความคิด การกระทำ ตลอดจนประสบการณ์ของบุคคล เพื่อสร้างเป็นความรู้หรือนวัตกรรม และจัดเก็บในลักษณะของแหล่งข้อมูลที่บุคคลสามารถเข้าถึงได้ โดยอาศัยช่องทางต่างๆ ที่องค์กรจัดเตรียมไว้ เพื่อนำความรู้ที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งก่อให้เกิดการแบ่งปันและถ่ายโอนความรู้ และในที่สุดความรู้ที่มีอยู่จะแพร่กระจายและไหลเวียนทั่วทั้งองค์กรอย่างสมดุล เป็นไปเพื่อเพิ่มความสามารถในการพัฒนาผลผลิตและองค์กร

ศรีไพร ศักดิ์รุ่งพงศากุล (2549 : 343) ให้นิยามการจัดการความรู้ ว่าหมายถึง กระบวนการอย่างเป็นระบบในการสรรหา การเลือก การรวบรวม การจัดระบบ การสร้างและจัดเก็บความรู้ ในลักษณะที่เป็นแหล่งความรู้ที่ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงได้ง่ายและแบ่งปันความรู้กันได้อย่างเหมาะสม เพื่อที่จะพัฒนาตนเองและมีความสามารถที่นำความรู้ไปประยุกต์ใช้อันจะเกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของตน ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กร

พรพิมล หรรษาภิรมโชค (2550) อธิบายการจัดการความรู้ไว้ว่า เป็นกระบวนการพัฒนาบุคลากรในองค์กรที่มุ่งให้บุคลากรสามารถกำหนดความรู้ แสวงหาความรู้ สร้างความรู้ จัดเก็บความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันทั้งภายในและภายนอกองค์กร การนำความรู้ไปใช้ และการติดตามประเมินผลเพื่อปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพจนทำให้เกิดการเรียนรู้ในระดับบุคคล กลุ่ม และทั่วทั้งองค์กร 

ประพนธ์ ผาสุขยืด (2550 : 21-26) เปรียบการจัดการความรู้ว่า เหมือนกับปลาทูตัวหนึ่ง ซึ่งมี 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนตัว และส่วนหาง ในส่วนที่ 1 ส่วนหัว เรียกว่า "KV" (Knowledge Vision) หมายถึงส่วนที่เป็นวิสัยทัศน์ หรือเป็นทิศทางของการจัดการความรู้ ส่วนที่ 2 ส่วนตัว เรียกว่า "KS" (Knowledge Sharing) ซึ่งเป็นส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Share and Learn) ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่ยากลำบากที่สุดในกระบวนการจัดการความรู้ และส่วนที่ 3 ส่วนหางปลา เรียกว่า "KA" (Knowledge Assets) หมายถึง ตัวเนื้อความรู้ที่เก็บสะสมไว้เป็น "คลังความรู้" หรือ "ขุมความรู้" ดังภาพที่ 2.3



วิจารณ์ พานิช (2551 : 3-4) กล่าวว่าการจัดการความรู้คือ เครื่องมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 4 ประการไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ บรรลุเป้าหมายของงาน บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคน บรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กรไปเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และบรรลุความเป็นชุมชน เป็นหมู่คณะ ความเอื้ออาทรระหว่างกันในที่ทำงาน การจัดการความรู้เป็นการดำเนินการอย่างน้อย 6 ประการ ได้แก่
  1. การกำหนดความรู้หลักที่จำเป็นหรือสำคัญต่องานหรือกิจกรรมของกลุ่มหรือองค์กร
  2. การเสาะหาความรู้ที่ต้องการ
  3. การปรับปรุง ดัดแปลง หรือสร้างความรู้บางส่วน ให้เหมาะต่อการใช้งานของตน
  4. การประยุกต์ใช้ความรู้ในกิจการงานของตน
  5. การนำประสบการจากการทำงาน และการประยุกต์ใช้ความรู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสกัด "ขุมความรู้" ออกมาบันทึกไว้
  6. การจดบันทึก "ขุมความรู้" และ "แก่นความรู้" สำหรับไว้ใช้งาน และปรับปรุงเป็นชุดความรู้ที่ครบถ้วน ลุ่มลึก และเชื่อมโยงมากขึ้น เหมาะต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น
พรรณี สวนเพลง (2552 : 27) ให้ความหมายการจัดการความรู้ว่า เป็นการบูรณาการศาสตร์ 2 สาขาเข้าด้วยกันคือ ความรู้ (Knowledge) และการบริหารจัดการ (Management) โดยเน้นที่กระบวนการจัดการข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ และความรู้ ด้วยการให้ความสำคัญกับบุคคล โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการความรู้ผ่านทางช่องทางความรู้ต่างๆ 

บูรชัย ศิริมหาสาคร และ พัดชา กวางทอง (2552) อธิบายว่า การจัดการความรู้ คือ การบริหารจัดการที่ส่งเสริมให้คนในองค์กร ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อต่อยอดความรู้ที่แต่ละคนมีอยู่ให้สมบูรณ์ แล้วนำไปใช้สร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหาหรือพัฒนางาน 

เจษฎา นกน้อย (บรรณาธิการ, 2552 : 4) กล่าวว่า เป็นกระบวนการอย่างเป็นระบบในการแสวงหาความรู้ การสร้างความรู้หรือนวัตกรรม และการจัดเก็บความรู้อย่างเหมาะสม เพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานอันจะก่อให้เกิดการแบ่งปันและถ่ายโอนความรู้ เพื่อให้เกิดการแพร่กระจายและไหลเวียนความรู้ทั่วทั้งองค์กร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กร

จากการศึกษาความหมายของการจัดการความรู้ กล่าวได้ว่า คือ กระบวนการอย่างเป็นระบบในการนำความรู้ประเภทต่างๆ ที่อยู่ในตัวของมนุษย์ มาดำเนินกรรมวิธีเพื่อให้ความรู้ที่มีอยู่นั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อในการพัฒนาการทำงานและการดำรงชีวิตประจำวัน โดยมีกระบวนการที่สำคัญคือ การค้นหาและรวบรวมความรู้ที่มีอยู่ การนำความรู้ที่ได้มาทำการสร้างให้เป็นความรู้แจ้งชัด การจัดเก็บความรู้ การถ่ายทอดความรู้ไปยังผู้ที่ต้องการใช้ความรู้ การแลกเปลี่ยนรู้ความรู้ หลังจากการนำความรู้เก่าไปใช้แล้ว ก่อให้เกิดความรู้ใหม่เพื่อนำไปใช้ต่อไป

*****************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น