เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการความรู้

ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการความรู้
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน ซึ่งมุ่งสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยและสังคมไทย สาระสำคัญที่เกี่ยวกับ “การเรียนรู้” สรุปได้ว่า คนไทยต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้อย่างต่อเนื่องในเรื่องการศึกษา ทักษะการทำงาน และการดำเนินชีวิต เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญในการดำรงชีวิตและปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคศตวรรษที่ 21 โดยมีแนวทางพัฒนาด้านการเรียนรู้ที่สำคัญ อาทิ การส่งเสริมให้มีระบบการจัดการความรู้ในเรื่องครอบครัวศึกษา อาหารศึกษา พฤติกรรมอนามัยการเจริญพันธ์ สุขภาพทางเพศที่เหมาะสมปลอดภัย มีการเรียนรู้สู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง มีการสั่งสมทุนทางปัญญา เชื่อมโยงการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาสู่การเสริมสร้างขีดความสามารถในการประกอบสัมมาชีพ และเพื่อการดำรงชีวิตที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย พัฒนากำลังแรงงานให้มีความรู้และสมรรถนะที่สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตและบริการบนฐานความรู้และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างโอกาสการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้คนทุกกลุ่มทุกวัยเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และองค์ความรู้ที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ใหม่ สร้างกระแสสังคมให้การเรียนรู้เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน มีนิสัยใฝ่รู้ รักการอ่าน ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันของคนต่างวัย ควบคู่กับการส่งเสริมให้องค์กร กลุ่มบุคคล ชุมชน ประชาชน และสื่อทุกประเภทเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งสนับสนุนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และปัจจัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาและเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ทั่วไป อาทิ สถานศึกษา ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์กีฬาและนันทนาการ เปิดพื้นที่/เวทีสาธารณะให้เป็นศูนย์รวมแลกเปลี่ยนให้กับนักคิด และนำเสนอผลงานเชิงสร้างสรรค์ มีการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้สมัยใหม่ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ พัฒนาองค์ความรู้ของท้องถิ่นทั้งจากผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน จัดให้มีการวิจัยเชิงประจักษ์ของชุมชน การจัดการองค์ความรู้ในชุมชนอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการพัฒนาทักษะด้านภาษาและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ตลอดจนเนื้อหาสาระที่เหมาะสมกับการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเอง 

ด้านการใช้ฐานความรู้และเทคโนโลยีเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศไทย ระบุว่าการพัฒนาประเทศให้อยู่บนฐานความรู้และและเทคโนโลยีที่ทันสมัย การวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ ในการปรับเปลี่ยนการผลิตจากการใช้ทรัพยากร เงินทุน และแรงงานที่มีผลิตภาพต่ำ ไปสู่การใช้ความรู้และความชำนาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้เป็นพลังขับเคลื่อนและภูมิคุ้มกันประเทศไทยในกระแสโลกาภิวัตน์

ในด้านการพัฒนาบทบาทสถาบันทางสังคมให้เอื้อต่อการพัฒนาคน กำหนดให้มีการสร้างเสริมความเข็มแข็งของเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้เป็นพลังสำคัญที่มีบทบาทต่อการสะท้อนความต้องการของประชาชน รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ โดยจัดพื้นที่ออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ตามความสนใจ วิเคราะห์แนวทางการใช้ประโยชน์ในการใช้สื่อออนไลน์และมีการจัดระบบระเบียบการบริหารจัดการอย่างเข้มงวด

จากที่กล่าวมาเห็นได้ว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) เน้นความสำคัญเรื่อง การจัดการความรู้ (Knowledge Management) นั่นเองตามที่ วิจารณ์ พานิช (2551 :3) กล่าวไว้ว่า การจัดการความรู้ คือ เครื่องมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 4 ประการไปพร้อมๆ กัน คือ 1) บรรลุเป้าหมายของงาน 2) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคน 3) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กรไปเป็นองค์กรแห่งเรียนรู้ และ 4) บรรลุความเป็นชุมชน หมู่คณะ ความเอื้ออาทรระหว่างกันในที่ทำงาน 

เรื่องการจัดการความรู้นี้ ระบบราชการของไทยเริ่มทำมาตั้งแต่ครั้งมีการปฏิรูประบบราชการเมื่อปี พ.ศ. 2545 มีการจัดทำคู่มือการจัดทำแผนการจัดความรู้ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (2548 : 5-6) เพื่อให้หน่วยราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนการจัดการความรู้ (Knowledge Management Action Plan) เพื่อนำไปสู่สัมฤทธิผลในการดำเนินงานของหน่วยงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในคู่มือดังกล่าว ได้ระบุถึง กระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management Process) ว่าเป็นกระบวนการแบบหนึ่งที่จะช่วยให้องค์กรเข้าใจถึงขั้นตอนที่ทำให้เกิดกระบวนการจัดการความรู้ หรือพัฒนาการของความรู้ที่จะเกิดขึ้นภายในองค์กร ซึ่งประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การบ่งชี้ความรู้ 2) การสร้างและแสวงหาความรู้ 3) การจัดความรู้ให้เป็นระบบ 4) การประมวลและกลั่นกรองความรู้ 5) การเข้าถึงความรู้ 6) การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ 7) การเรียนรู้ โดยในขั้นที่ 6 และ 7 ได้กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เป็นสำคัญ

ในส่วนของแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย (พ.ศ.2552-2556) ในยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร และบุคคลทั่วไปให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ ผลิต และใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน ได้กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการสนับสนุนการพัฒนาสู่เศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้และนวัตกรรมอย่างยั่งยืนและมั่นคง โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชมและปัจเจกบุคคล ให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสารสนเทศในกิจการของครัวเรือนและชุมชน รวมถึงในการแสวงหาความรู้ สร้างภูมิปัญญา จัดให้มีแหล่งเรียนรู้ แหล่งเทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสารของชุมชน โดยพัฒนาจากศูนย์ หน่วยงาน หรือสถานที่ ที่มีอยู่ เช่น ห้องสมุดสาธารณะ วัด ศูนย์สารสนเทศชุมชน โดยมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลาย และมีบริการให้การฝึกอบรมแก่ผู้ใช้บริการตามความเหมาะสม รวมถึงการพัฒนาเว็บท่า (Portal) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งความรู้/ข้อมูล ที่จะเป็นประโยชน์แก่อาชีพและการดำรงชีวิตประจำวันแก่ประชาชน โดยส่วนหนึ่งจะเป็นข้อมูลกลางที่ใช้ได้กับทุกแห่ง ทุกพื้นที่ และส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาเนื้อหา (Content) ฐานข้อมูล โปรแกรมประยุกต์ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอาชีพและการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ฐานข้อมูลด้านการเกษตร ด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล ฯลฯ ที่ใช้งานง่าย สืบค้นง่าย ใช้ได้ทั้งคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่

จากที่กล่าวมา ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ในกระบวนการจัดการความรู้ในระบบราชการของไทย และในแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย (พ.ศ.2552-2556) ล้วนกล่าวไว้สอดคล้องกันในการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่เหมาะสมและทันสมัย มาช่วยสนับสนุนการจัดการความรู้ให้แก่ประชาชนและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับ วิจารณ์ พานิช (2551 : 54-69) ที่กล่าวว่า ระบบการจัดการความรู้จะประกอบด้วย 1) ระบบการฝึกอบรม 2) ระบบแทรกซึมหรือบูรณาการอยู่กับงานประจำ 3) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 4) ระบบฐานข้อมูลความรู้ 5) ระบบการจัดกิจกรรมพิเศษ 6) ระบบการเชื่อมโยงกับกิจกรรมจัดการความรู้ภายนอกองค์กร 7) ระบบรางวัล แรงจูงใจ และสิ่งตอบแทน 8) ระบบการประเมินการดำเนินการจัดการความรู้ และ 9) การจัดระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อจัดการความรู้ โดยในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้น จะต้องมีการออกแบบให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ และใช้งานง่าย (user friendly) ให้พนักงานทุกคนมีพื้นที่ของตนเองบนพื้นที่ทางอิเลคทรอนิกส์ (electronic space) สามารถนำเสนอความรู้ของตนที่สร้างขึ้น มีพื้นที่สำหรับการแบ่งปัน (Share space) สำหรับแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ มีพื้นที่สำหรับจัดเก็บ “ขุมความรู้” (Knowledge Assets) พนักงานต้องสามารถติดต่อกันได้อย่างรวดเร็ว ตลอด 24 ชั่วโมง หลักการที่สำคัญคือ ให้เทคโนโลยีรับใช้คน รับใช้พฤติกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคน

ส่วนในรูปแบบการจัดการความรู้ (Knowledge Management Model) ของสถาบันส่งเสริมการจัดความรู้เพื่อสังคม (สคส.) (ประพนธ์ ผาสุขยืด, 2550 : 46-52) แสดงให้เห็นว่าการจัดการความรู้นั้นเกี่ยวข้องกับมิติทั้งสาม คือ มิติแรกเกี่ยวข้องกับงาน มิติที่สองเกี่ยวข้องกับความรู้ และมิติที่สามเกี่ยวข้องกับคนและวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งมิติที่สามนี้แยกเป็น็น้ประเด็นหลักได้เป็น 4 ประเด็นคือ 1) เรื่องเวลา 2) เรื่องใจ 3) เรื่องพื้นที่หรือเวที 4) เรื่องเทคโนโลยี หรือเทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร (Information and Communications Technology : ICT) ซึ่งเรื่องเทคโนโลยีนี้จะเป็นเวทีอีกลักษณะหนึ่งในรูปแบบพื้นที่เสมือน (Virtual Space) เป็นพื้นที่ที่สร้างขึ้นมาบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นเครื่องมือจัดการความรู้ที่ค่อนข้างทรงพลัง เนื่องจากมีศักยภาพที่จะขยายเครือข่ายได้อย่างกว้างขวาง สะดวกและรวดเร็ว เรียกว่าเป็นการสร้างชุมชนแบบออนไลน์ (On-line)

ในการจัดการความรู้ โดยใช้ปลาทูโมเดล ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1) ส่วนหัวปลา หมายถึง ส่วนที่เป็นวิสัยทัศน์ 2) ส่วนกลางลำตัว หมายถึง ส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน 3) ส่วนที่เป็นหางปลา หมายถึง ส่วนที่เป็นคลังความรู้ ซึ่งในส่วนที่ 3 นี้ เป็นส่วนที่ต้องพึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยในการจัดเก็บ ให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกในการเรียกใช้ และปรับแต่งความรู้ให้ทันสมัยอยู่เสมอ (บูรชัย ศิริมหาสาคร, 2550 : 13-15)

ประพนธ์ ผาสุขยืด (2550 : 25) ยังได้กล่าวถึงส่วนหางปลาเพิ่มเติมไว้อีกว่า เป็นส่วนที่เทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร เข้ามามีส่วนช่วยได้ค่อนข้างมาก หากปราศจากการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร ที่เหมาะสมแล้ว คลังความรู้ที่สร้างขึ้นมาคงจะลดคุณค่าลงไป เทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสารนอกจากจะมีบทบาทในเรื่องการจัดคลังความรู้แล้ว ยังใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ทรงพลังอย่างยิ่ง เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต สามารถทำหน้าที่เป็นพื้นที่เสมือน (Virtual Space) ให้ผู้คนที่อยู่ไกลกันได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน (Share & Learn) ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

พรรณี สวนเพลง (2552 : 162 ) ให้ความเห็นว่า การจัดการความรู้เป็นการผสมผสานของเทคโนโลยี กับการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในองค์กร เทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการความรู้ ได้แก่ เทคโนโลยีเวิร์กโฟลว์ (Workflow) โปรแกรมการจัดกระบวนการ (Process Management) และโปรแกรมระบบการจัดการความรู้ (Knowledge Management Systems : KMS)

สมชาย นำประเสริฐชัย (2550: 5) กล่าวว่า เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในเรื่องของการจัดการความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเตอร์เน็ตที่เป็นเทคโนโลยีที่เชื่อมคนทั่วโลกเข้าด้วยกันทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge transfer) ทำได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยียังช่วยให้การนำเสนอสามารถเลือกได้หลายรูปแบบ เช่น ตัวอักษร รูปภาพ แอนนิเมชั่น เสียง วิดีโอ ซึ่งช่วยให้การเรียนรู้ทำได้ง่ายขึ้น เทคโนโลยียังสามารถช่วยในการจัดเก็บและดูแลปรับปรุงความรู้และสารสนเทศต่างๆ (knowledge storage and maintenance) เทคโนโลยียังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการในกระบวนการจัดการความรู้ด้วย

จากความเห็นของนักวิชาการหลายท่าน แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) นั้น เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสนับสนุนการจัดการความรู้ขององค์กรให้ประสบผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพ ดังที่ ศรีไพร ศักดิ์รุ่งพงศากุล (2549 : 347) ได้กล่าวถึงตัวอย่างเทคโนโลยีสารสนเทศสารสนเทศที่ถูกนำมาใช้กับการจัดการความรู้ ได้แก่ ระบบจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (Document and Content Management Systems), ระบบสืบค้นข้อมูลข่าวสาร (Search Engines),ระบบการเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning),ระบบประชุมอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Meeting System and VDO Conference),การเผยแพร่สื่อผ่านระบบเครือข่าย (e-Broadcasting),การระดมความคิดเห็นผ่านระบบเครือข่าย (Web Board หรือ e-Discussion),ซอฟต์แวร์สนับสนุนการทำงานร่วมกันเป็นทีม (Groupware),บล็อก (Blog หรือ Weblog) เป็นต้น

จากผลศึกษากล่าวได้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศนับว่ามีความสำคัญในการจัดการความรู้ในสมัยปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีเว็บไซต์ ทำให้ความรู้สามารถทำการบันทึกหรือสร้างได้หลากหลายรูปแบบ สร้างได้ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยสื่ออักษร เสียง ภาพ วิดีโอ และสื่อมัลติมีเดียต่างๆ การนำเสนอมีความน่าสนใจ ทำให้สามารถเข้าใจความรู้ได้ง่ายขึ้น และด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารด้วยอินเตอร์เน็ต ทำให้ความรู้สามารถแบ่งปันเชื่อมโยงถึงกันได้รวดเร็ว เกือบเท่าเวลาจริง เทคโนโลยีสารสนเทศสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนกระบวนการจัดการความรู้ได้เกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่ การค้นหาความรู้ การแสวงหาความรู้ การสร้างความรู้ การบันทึกความรู้ การจัดเก็บความรู้ การประมวลและกลั่นกรองความรู้ การแบ่งปันความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนกระทั่งเกิดความรู้ใหม่ หลายองค์กรในปัจจุบันใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือหลักในการจัดการความรู้ขององค์กร 

ตัวอย่างเครื่องมือทางเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการจัดการความรู้ ให้เหมาะสมกับขั้นตอนกระบวนการความรู้ (Knowledge Process) 7 ขั้นตอน (บุญดี บุญญากิจและคณะ, 2548 : 156 อ้างถึงใน บูรชัย ศิริมหาสาคร และพัดชา กวางทอง, 2552 : 177-178) ได้จำแนกไว้ตามตารางที่ 2.2 ดังนี้

ตารางที่ 2.2  ตัวอย่างเครื่องมือทางเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการจัดการความรู้
ขั้นตอนในกระบวนการจัดการความรู้
ประเภทของเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศ
การใช้งานเครื่องมือ
1.        การค้นหาความรู้
2.        การสร้างและแสวงหาความรู้
·  Idea generating tools
·  Data mining tools ,OLAP tools
·  Conceptual mapping tools
·  Intelligent agents
· เพื่อช่วยสร้างความคิดใหม่ๆ
·  เพื่อช่วยสกัดเอาความคิดใหม่ๆ แนวโน้มต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมของลูกค้า
· เพื่อช่วยค้นหาข้อมูลและสร้างความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาจากหลักการที่เหมือนกัน
· เพื่อช่วยเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ
3.    การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ
4.    การประมวลและกลั่นกรองความรู้

· Document management systems
· Case-based reasoning
· Visual maps
· Metadata repositories
· Data/Knowledge bases
· Directories
· เพื่อช่วยกลั่นกรองและจัดลำดับข้อมูล
· เพื่อจัดข้อมูลให้เป็นระบบ
· ช่วยแปลความรู้และประสบการณ์ต่างๆ เพื่อนำไปจัดเก็บไว้ในฐานความรู้
5.        การเข้าถึงความรู้
· E-mail
· Workflow software
· Data warehouse/Data mart
· Intranet, web
· Search and retrieval technologies
· เพื่อใช้สื่อสารความรู้ต่างๆ
· ทำให้ข้อมูลสามารถเข้าถึงง่าย
· เพื่อช่วยในการตัดสินใจและการแก้ปัญหาต่างๆ
ตารางที่ 2.2 (ต่อ)
ขั้นตอนในกระบวนการจัดการความรู้
ประเภทของเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศ
การใช้งานเครื่องมือ
6.        การแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้
7.        การเรียนรู้

· Collaboration tools
· Audio/Video conferencing Tools
· Meeting support software
· Intranet, Extranet
· Computer aided training

· ช่วยเชื่อมโยงบุคลากรภายในองค์กรที่อยู่ต่างสถานที่เข้าไว้ด้วยกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้
·  ส่งเสริมให้เกิดการปฏิสัมพันธ์และการทำงานที่เกื้อกูลกัน
· สนับสนุนและอำนวยความสะดวกสำหรับการเรียนรู้

พรรณี สวนเพลง (2552 : 151-162) ได้สรุปถึงเทคโนโลยีสารสนเทศที่มาสนับสนุนกระบวนการจัดการความรู้ ในภาพรวมไว้ดังนี้
  1. การสร้างความรู้ (Create Knowledge) เทคโนโลยีสารสนเทศที่ช่วยสร้างความรู้ เช่น โปรแกรมแคด (Computer Aided Design : CAD) การใช้ระบบความจริงเสมือน (Virtual Reality Systems) คอมพิวเตอร์ที่ใช้วิเคราะห์การลงทุน (Investment Workstation) เหล่านี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความรู้ใหม่
  2. การประมวลผลความรู้ (Knowledge Processing) คือ การแปลงความรู้ให้เป็นรูปแบบที่สามารถเข้าถึงและนำไปประยุกต์ใช้ได้สะดวก จำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เป็นทั้งผู้ลงมือปฏิบัติ และเป็นผู้ประสานงาน หรือที่เรียกว่า แรงงานความรู้ (Knowledge Worker) ด้านการจัดการความรู้อย่างจริงจัง
  3. การถอดและการให้รหัสความรู้ (Knowledge Capture and Codification) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการจัดการความรู้ โดยสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่มาสนับสนุน เช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Systems : AIS) ซึ่งเป็นสาขาของวิชาคอมพิวเตอร์ที่เลียนแบบการเรียนรู้ และการตัดสินใจต่างๆ ของมนุษย์ โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert Systems : ES ) เป็นโปรแกรมที่นำฐานความรู้ (Knowledge Base) ซึ่งประกอบด้วยกฎเกณฑ์ของความรู้ที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และโปรแกรมจะทำงาน เมื่อมีการป้อนข้อมูลโดยผู้ใช้ลักษณะการถามตอบ และประมวลคำตอบจากที่ผู้ใช้ป้อนเข้าไป เพื่อหาข้อสรุป หรือคำแนะนำที่ต้องการ
  4. การแบ่งปันความรู้ (Knowledge Sharing) ระบบสารสนเทศที่ช่วยสนับสนุนการแบ่งปันความรู้ เช่น กรุ๊ปแวร์ (Groupware) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่มีหน้าที่ในการสนับสนุนกิจกรรมความร่วมมือของกลุ่มคน ประกอบด้วยซอฟต์แวร์ที่ช่วยแบ่งปันสารสนเทศ การประชุมอิเลคทรอนิกส์ การจัดตารางเวลา และการส่งอีเมล เป็นเครือข่ายที่กลุ่มคนทำงานในสถานที่ต่างกันสามารถทำงานร่วมกันได้ หรือการใช้อินทราเน็ต เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายของคนและหน่วยงานภายในองค์กร

นอกจากนั้นยังกล่าวต่อว่า การจัดการความรู้เป็นการผสมผสานของเทคโนโลยี กับการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในองค์กร เทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการความรู้ ได้แก่ เทคโนโลยีเวิร์กโฟลว์ (Workflow),โปรแกรมการจัดการกระบวนการ (Process Management) และโปรแกรมระบบการจัดการความรู้ (Knowledge Management Systems : KMS) ส่วนการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในองค์กร เช่น การเปลี่ยนกระบวนการคิดให้เป็นระบบ การคิดสร้างสรรค์ และกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีพ โดยการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรอัจฉริยะ (Intelligence Organization) หรือ องค์กรการเรียนรู้

ในส่วนโปรแกรมระบบการจัดการความรู้ ยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ (พรรณี สวนเพลง, 2552 : 163-167) ได้แก่
  1. บริการโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Services) หมายถึงเทคโนโลยีพื้นฐานที่จำเป็นในการประยุกต์กับการจัดการความรู้ มี 2 ประเภท คือเทคโนโลยีจัดเก็บ และเทคโนโลยีสำหรับการสื่อสาร ซึ่งแต่ละส่วนแยกได้ดังนี้
    1. เทคโนโลยีที่สนับสุนนการจัดเก็บความรู้ (Storage of Technology) หรือเรียกว่า คลังความรู้ (Knowledge Repository) เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บตัวเนื้อหาความรู้ (Content) และโครงสร้าง (Structure) ประเภทของเทคโนโลยีจัดเก็บความรู้ แบ่งออกเป็น 1) คลังข้อมูล (Data Warehouse) และ 2) แม่ข่ายความรู้ (Knowledge Server)
    2. เทคโนโลยีที่สนับสนุนการสื่อสาร (Technology for Communication) มี 3 ประเภท ได้แก่ 1) เทคโนโลยีในการสื่อสารระหว่างพนักงาน 2) เทคโนโลยีที่สนับสนุนความร่วมมือระหว่างพนักงาน 3) เทคโนโลยีการจัดการการทำงานของบุคลากร (Workforce Management)
  2. บริการความรู้ (Knowledge Service) หมายถึง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการให้บริการความรู้ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการจัดการความรู้ มี 3 ด้าน ได้แก่ 1) การสร้างความรู้ (Knowledge Creation) 2) การแบ่งปันความรู้ (Knowledge Sharing) และ 3) การใช้ความรู้ซ้ำ (Knowledge Reuse)
  3. บริการประสานผู้ใช้กับแหล่งความรู้หรือแหล่งสารสนเทศ (Presentation Services) สารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจ แต่ทว่าปัญหาของจำนวนสารสนเทศที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันจนเกิดการล้นทะลัก และกระจัดกระจายอยู่ในหลากหลายแหล่ง ทำให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการตัดสินใจที่ลดต่ำลงด้วย เนื่องจากผู้ใช้มักจะไม่ใช้ความพยายามในการแสวงหาสารสนเทศที่ต้องใช้เวลามากเกินความจำเป็น สิ่งนี้ทำให้เกิดความจำเป็นในการพัฒนาบริการประสานผู้ใช้ กับแหล่งความรู้หรือแหล่งสารสนเทศ โดยมีการประยุกต์เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้กับแหล่งความรู้/สารสนเทศ ซึ่งมี 2 ประเภท คือ บริการที่แสดงความเป็นส่วนบุคคลของผู้ใช้แต่ละคน (Personalization) และระบบที่ช่วยการมองเห็น (Visualization)
ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระบบการจัดการความรู้ ต้องออกแบบให้ตอบสนองต่อความต้องการผู้ใช้และใช้งานง่าย ซึ่ง พรรณี สวนเพลง (2552 : 172-173) ได้กล่าวถึงเรื่องการออกแบบ ไว้ดังนี้
  1. ให้พนักงานทุกคนสามารถขอมีพื้นที่ของตนเองบนเว็บไซต์ขององค์กร
  2. มีการแลกเปลี่ยนความรู้บนเว็บไซต์
  3. มีพื้นที่สำหรับจัดเก็บขุมความรู้ (Knowledge Asset)
  4. ให้พนักงานสามารถติดต่อกันได้อย่างรวดเร็ว
  5. ใช้เป็นเครื่องมือสร้างความคึกคักในการแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ นั้นมีหลายประเภท ทั้งเทคโนโลยีที่สนับสนุนการจัดการความรู้ และเทคโนโลยีที่สนับสนุนการสื่อสาร ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการจัดการความรู้ได้เกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่ การค้นหาความรู้ การแสวงหาความรู้ การสร้างความรู้ การบันทึกความรู้ การจัดเก็บความรู้ การประมวลและกลั่นกรองความรู้ การแบ่งปันความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนกระทั่งเกิดความรู้ใหม่ เทคโนโลยีสารสนเทศยังเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในองค์กร เพื่อให้การจัดการความรู้ขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

****************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น